กรมโรงงานฯ จับมือ 3 หน่วยงาน ช่วยอุตสาหกรรมโฟมเลิกการใช้สาร HCFC-141b
19 Sep 2022

นายศุภกิจ บุญศิริ  รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในการจัดกิจกรรมวันโอโซนสากล เมื่อวันที่    16 กันยายน 2565 ว่า ปี พ.ศ. 2565 เป็นปีเฉลิมฉลองครบ 35 ปี พิธีสารมอนทรีออล โดยกำหนด Theme ว่า “Global cooperation protecting life on earth” (การประสานความร่วมมือทั่วโลกเพื่อปกป้องทุกชีวิตบนโลก) ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะช่วยปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงร่วมมือกับ ธนาคารโลก ธนาคารออมสิน และกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยโพลียูรีเทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันโอโซนสากล เพื่อกระตุ้นการผลักดันในการเลิกการใช้สาร HCFC-141b ซึ่ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม เคยออกประกาศสั่งห้ามใช้สาร HCFC-141b ในกระบวนการผลิตโฟมทุกชนิด ยกเว้นโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) ไปแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลดการใช้สาร HCFC-141b ได้ 132 โอดีพีตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 870,000 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ในปี พ.ศ. 2563 กองทุนพหุภาคีให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวนกว่า 1.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 62 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมโฟมแบบฉีดพ่น เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้สารไฮโดรฟลูออ-โรโอเลฟิน (HFOs) ซึ่งจะไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และยังได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโฟม เป็นจำนวนเงินกว่า 47 ล้าน หากมีผู้ประกอบการ ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถติดต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้โดยตรง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กำหนดแนวทางการออกประกาศห้ามใช้สาร HCFC-141b ภายในปี พ.ศ. 2566 คาดว่ามีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยการดำเนินการเลิกใช้สาร HCFC-141b จำนวน 31.53 โอดีพีตัน (ประมาณ 286 เมตริกตัน) ข้างต้น จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2 แสนตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2566 อีกทั้งตอบสนองเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมณ์ของ ประเทศไทย ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 40 ในปี พ.ศ. 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608

นายขวัญพัฒน์  สุทธิธรรมกิจ ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 16 กันยายน 2530 ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารมอนทรีออล จึงได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันโอโซนสากลโลก และเมื่อปี 2532 ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกฯ ว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อรักษาชั้นบรรยากาศโอโซน ที่เริ่มสูญสลาย เนื่องจากสารทำความเย็นต่าง ๆ ธนาคารโลก จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ในการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (สาร HCFCs) ระยะที่ 1 โดยให้เงินช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์สเปรย์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์     ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้สารที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมเป็นเงินกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,400 ล้านบาท สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 ได้ดำเนินโครงการสาธิตการลดการใช้สาร HFCs และสาร HCFCs ในอุตสาหกรรมตู้แช่เชิงพาณิชย์ และภาคบริการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ และมุ่งเน้นให้ความรู้ ให้เงินช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมโฟมแบบฉีดพ่น รวมทั้งเชิญชวนให้ผู้ประกอบการโฟมที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งธนาคารโลกยังคงให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมโครงการให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป

นางสาววรรณวรางค์  แก้วเนียม ประธานกลุ่มย่อยอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการประสานงานกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ธนาคารโลก และผู้ประกอบการโฟม เพื่อดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (สาร HCFCs) ในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) ซึ่งผู้ประกอบการฯ ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กลุ่มฯ พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง และมีความยินดีที่จะร่วมมือกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และธนาคารโลก ในการดำเนินโครงการอื่น ๆ เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

File upload :